IoT คืออะไร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร
คำจำกัดความของ Internet of Things
อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT: Internet of Things) คืออุปกรณ์อเนกประสงค์ทั่วโลกนับล้าน ๆ เครื่องซึ่งจับต้องได้ ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเพื่อเก็บและแชร์ข้อมูลกัน ด้วยผลพลอยได้จากชิปคอมพิวเตอร์ราคาถูกและเครือข่ายไร้สายที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก IoT เลยมีบทบาทสำคัญ ตั้งแต่นวัตกรรมชิ้นเล็กเท่าเม็ดยาไปจนถึงเครื่องบินเลยทีเดียว การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกับข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และใส่เซนเซอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาร์ทโฟนกับอุปกรณ์ได้แบบเรียลไทม์ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากมนุษย์ IoT เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างโลกดิจิตอลกับอุปกรณ์ในชีวิตจริงเข้าด้วยกัน ทำให้นวัตกรรมรอบตัวเราฉลาดขึ้นและตอบสนองภายในพริบตา
หลักการทำงานของ IoT
เครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีเซนเซอร์ที่ออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม IoT ซึ่งนำข้อมูลจากอุปกรณ์หลายแหล่งมาคำนวณ เพื่อแสดงข้อมูลที่มีประโยชน์ที่สุดต่อผู้ใช้งานบนแอปพลิเคชันที่ออกมาโดยเฉพาะ
แพลตฟอร์ม IoT สามารถบอกข้อมูลที่สำคัญได้อย่างแม่นยำ และจำแนกว่าอะไรสามารถเพิกเฉยได้ ข้อมูลที่สังเคราะห์แล้วสามารถบอกถึงรูปแบบการใช้งาน ให้คำแนะนำ และตรวจจับปัญหาได้ก่อนเกิดความเสียหายขึ้น
ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์ ต้องทราบว่าลูกค้าเลือกที่จะมองหาสินค้าชนิดใด และอยากได้ชิ้นส่วนไหนมากที่สุด; เบาะหนัง ล้อแม็ก หรือกันชน เป็นต้น การใช้ IoT สามารถบอกได้ว่า:
- พื้นที่ไหนในโชว์รูมลูกค้ามองหาสินค้าใดมากที่สุด และใช้เวลาเลือกซื้อสินค้านั้นนานที่สุด
- สินค้าชนิดใดจำหน่ายได้ดีที่สุด
- ควรจัดเตรียมสินค้าใดไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า
ด้วยข้อมูลที่ผ่านการเชื่อมต่อของอุปกรณ์แบบเรียลไทม์ ทำให้วางแผนการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างการจัดเตรียมสินค้าสำรอง ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้
การวิเคราะห์และเจียระไนข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ IoT ทำให้สามารถดำเนินการผลิตและเพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์และระบบเหล่านี้จะทำให้การจัดการง่ายขึ้น เพราะเป็นระบบอัตโนมัติที่ตอบโจทย์การทำงานจำนวนมากที่ใช้เวลาและซ้ำซากจำเจ
ตัวอย่างนวัตกรรมของอุปกรณ์ IoT
อุปกรณ์ที่จับต้องได้ส่วนใหญ่ หากเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ จะเป็นอุปกรณ์ IoT ที่สามารถควบคุมและสื่อสารข้อมูลออกมาได้
โคมไฟที่สามารถออกคำสั่งให้เปิด-ปิดได้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ก็เป็นอุปกรณ์ IoT เช่นเดียวกับเซนเซอร์ตัวจับการเคลื่อนไหว กล้องวงจรปิดไร้สาย หรือไฟบนถนนเองก็ด้วย อุปกรณ์ IoT อาจอยู่ในรูปแบบของเล่นเด็กไปจนถึงรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม วัตถุขนาดใหญ่จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบ IoT ชิ้นเล็กจำนวนมาก เช่นเครื่องยนต์ไอพ่นที่มีเซนเซอร์กว่าพันตัว เพื่อให้การรับ-ส่งข้อมูลทุกส่วนของเครื่องยนต์ทำงานได้อย่างราบรื่น
เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นโปรเจคที่เต็มไปด้วยเซนเซอร์ในจุดต่าง ๆ ภายในเมือง ซึ่งช่วยให้มนุษย์เข้าใจและจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว คำว่า IoT ที่ใช้กับอุปกรณ์ เป็นอุปกรณ์ที่สามารถสื่อสารกันเองได้ผ่านเครือข่ายอย่างอิสระ โดยไม่พึ่งการกระทำของมนุษย์ และอาจนึกไม่ถึงว่าเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ได้ ด้วยเหตุนี้เอง PC จึงไม่นับว่าเป็นอุปกรณ์ IoT เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน แม้ว่าจะมีเซนเซอร์อยู่ในอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม Smartwatch หรือ Fitness band จำพวกอุปกรณ์สวมใส่ต่าง ๆ อาจนับว่าเป็นอุปกรณ์ IoT
ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของ IoT
มาตราการความปลอดภัยของ IoT มีช่องโหว่ที่อาจส่งผลกระทบที่ใหญ่หลวงได้ เซนเซอร์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนใหญ่ จะเป็นข้อมูลที่อ่อนไหวเช่นพฤติกรรมการเคลื่อนของคนภายในบ้าน เวลาการตื่น การกิน การนอน ไปทำงาน และอื่น ๆ การจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อความเชื่อใจของผู้ใช้งานต่อบริษัทให้บริการอุปกรณ์ IoT แม้ว่าระบบรักษาความปลอดภัยของ IoT จะแย่มาก ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะเห็นความปลอดภัยขั้นพื้นฐานของผู้ใช้งานเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างการละเลยเข้ารหัสข้อมูล (Encryption)
ข้อบกพร่องในซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์ IoT ก็คือการไม่สามารถอัปเดตระบบได้ ซึ่งระบบเก่าที่ใช้งานโดยทั่วไป อาจเสี่ยงตกเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์ได้ตลอดเวลา ผ่านการเจาะเข้าอุปกรณ์ IoT อย่าง router หรือ webcam ได้ เพราะสามารถจู่โจมและฝัง Botnet ไว้อย่างง่ายดาย
ทั้งหมดนี้นำมาเปรียบเทียบกับองค์กรได้เช่นกัน แต่ความเสี่ยงจะสูงกว่ามาก เพราะการเชื่อมต่อเครื่องจักรในอุตสาหกรรมผ่าน IoT จะมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกโจมตีระบบโครงสร้างและเซิฟเวอร์บริษัทโดยแฮกเกอร์ เพื่อโจรกรรมและสร้างความเสียหายต่อองค์กร ซึ่งหมายความว่าเครือข่ายเหล่านี้ควรเปิดใช้งานแยกออกจากกันและต้องป้องกันอย่างดี ด้วยการเข้ารหัสข้อมูลกับระบบรักษาความปลอดภัยของตัว sensor, gateway และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญต่อระบบ
อนาคตของ IoT
จากการรายงานของ Samsung กล่าวไว้ว่า การยกระดับมาตราการความปลอดภัยในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกเครื่องภายในปี 2020 นั้นสำคัญมาก เพราะเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในแต่ละวัน เทคนิคการโจรกรรมของอาชญกรไซเบอร์ก็เช่นกัน อุปกรณ์มากกว่า 7 พันล้านเครื่องที่ผลิตใหม่จากโรงงาน ควรทำให้มีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดก่อนปี 2020
การที่โลกขับเคลื่อนไปด้วยนวัตกรรมเต็มรูปแบบ โดยการใช้ IoT, AI และ ML (Machine Learning) ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว จะเป็นโลกอนาคตที่อยู่เพียงแค่เอื้อม
ตัวอย่างภัย IoT Botnet ที่เกิดจากอุปกรณ์ที่ขาดการอัปเดตและความปลอดภัยที่หละหลวม ถูกแฮกเข้าระบบโดยใช้มัลแวร์และสั่งให้โจมตีเว็บไซต์ (DDoS Attack) ใหญ่ ๆ อย่าง Twitter, Netflix หรือ Github ให้เว็บล่มไปชั่วขณะ รวมถึงเซิฟเวอร์ออฟไลน์ด้วยเช่นกัน โดยประมาณการไว้ว่า กล้องไร้สายกว่า 4.3 ล้านตัว ถูกแฮกโดยผู้ประสงค์ร้ายเพื่อใช้เป็น Botnet ในการโจมตีเว็บไซต์ดังกล่าว